วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หลักข้อแรกในการเก็งกำไร Protect Your Money First


ในช่วงที่ผมพักไปหาตัวอย่างเกี่ยวกับ Point and Figure Chart มาให้ดู ก็ไปเจอบทความดีๆ ที่แมงเม่าคลับเกี่ยวกับทัศนคติเรื่องการเก็งกำไร เรื่องนี้สำคัญมาก นักเก็งกำไรยิ่งใหญ่หลายๆคนมีทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้่อย่างไร และการ Stoploss ให้ถูกที่ถูกเวลาสำคัญขนาดไหน

หลังจากเขียน Point and Figure เสร็จผมจะพยายามรวบรวมบทความเกี่ยวกับเรื่องการ Stoploss ว่ามันสำคัญอย่างไรในการเริ่มเล่นหุ้น และเราจะเผชิญหน้ากับความกลัวกับเรื่องนี้อย่างไร

“Survive first, Profit later”

“อยู่ให้รอดก่อน แล้วค่อยทำกำไร”

จอร์จ โซรอส


"Don't Focus on making money, Focus on protecting what you have"

"อย่ามุ่งมั่นกับการทำกำไรเกินไป จงให้ความสำคัญที่จะรักษาเงินต้นคุณมากกว่า"

Paul Tudor Jones


การทำกำไรนั้นไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญที่สุด ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่านั้น และสิ่งที่สำคัญกว่าการทำกำไรก็คือ การรักษาเงินทุนของคุณเอาไว้ การรักษาเงินทุนของคุณเอาไว้คือสิ่งที่สำคัญกว่า ! ผมจะยกตัวอย่างจากคำพูดของเซียนหุ้นบางคนให้คุณฟัง และคนที่พูดไว้ได้ดีคนหนึ่งก็คือ Paul Tudor Jones… Paul Tudor Jones คือเซียนหุ้นคนหนึ่งซึ่งเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ในหนังสือ The Market Wizards ซึ่งเขียนโดย Jack Schwager เมื่อปี 1989 ตัวของ Paul Tudor Jones นั้น โด่งดังขึ้นมาจากการที่เขาเป็นผู้จัดการกองทุน เพียงไม่กี่คนที่สามารถทำกำไรได้มากกว่า 100% ติดต่อกันถึง 5 ปี มากกว่า 100% ติดต่อกันในเวลา 5 ปีเชียวนะครับ ซึ่งในช่วงกลางปี 80 นั้น หากคุณลงทุนในกองทุนของเขา 4 ปีเงิน $ 1,000 จะกลายเป็นเงินถึงประมาณ $ 17,500 เขาคือคนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในตลาดหุ้นเลยทีเดียว แต่ถึงแม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จอย่างมากก็ตาม คำแนะนำของเขากลับดูง่ายดายเหลือเกิน เขาพูดว่า “อย่าคิดแต่จะทำกำไร แต่คิดว่าจะรักษาเงินทุนของคุณไว้ได้อย่างไร” แน่นอนครับ ! การทำกำไรนั้นสำคัญ แต่การรักษาเงินทุนเอาไว้นั้น สำคัญกว่า

Steven Waugh อดีตกัปตันทีมคริกเก็ตของออสเตรเลียนั้น เคยถูกถามไว้ว่า อะไรคือคำแนะนำที่ดีที่สุดของคุณ? เขาพูดง่ายๆ ว่า “อย่าบุกมากเกินไป” ซึ่งสิ่งที่ Waugh ต้องการที่จะบอกก็คือ… “อย่าคิดแต่จะทำแต้ม แต่จงป้องกันให้ดีก่อน” แน่นอนการทำคะแนนนั้นสำคัญ แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่า นั่นคือการรักษาแต้มของเราไว้ ! เช่นกันครับ การทำกำไรนั้นสำคัญ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ… รักษาเงินทุนเริ่มต้นของคุณเอาไว้ ถ้าคุณเสียมันไป คุณจะไม่มีเงินไว้ทำกำไรอีกเลย ซึ่งผมต้องเสียใจกับคุณด้วย คุณควรต้องเปลี่ยนทัศนคติของคุณใหม่ จากการมองโลกในแง่ดีเกินไปในเรื่องของความเสี่ยง จงเล่นเกมรับ ! รักษาเงินทุนของเราเอาไว้ จงตั้งจุดตัดขาดทุนเอาไว้ ! ต้องจัดสรรเงินทุนของเราให้เหมาะกับความเสี่ยง และจัดการกับความเสี่ยงของเราให้ดี

นี่คือประโยคต่อไปที่คุณควรจะจำไว้จาก Ed Seykota เซียนหุ้นอีกคนซึ่งได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ เขาบอกไว้ว่ามี 3 สิ่งที่สำคัญในการเก็งกำไร โดยจากผลการลงทุนในช่วง 16 ปีของเขาหรือตั้งแต่ประมาณปี 73 ถึงประมาณปลายปี 80 นั้น กองทุนของเขาทำผลงานได้อย่างเยี่ยมยอดมาก โดยการเติบโตขึ้นถึง 250,000% นี่เป็นผลงานที่น่านับถือมากๆ แต่คำแนะนำของเขานั้น ง่ายเหลือเกิน เขาบอกว่ามีอยู่ 3 สิ่งที่สำคัญในการเก็งกำไร นั่นคือ “ตัดขาดทุน ตัดขาดทุน และตัดขาดทุน !!”

ผมมีอีกประโยคที่น่าสนใจ “การตัดขาดทุน คือกุญแจสำคัญในการทำกำไร” นั่นหมายความว่าการจะทำกำไรให้ได้นั้น คือการไม่ปล่อยให้เราขาดทุนมากเกินไป นี่เป็นลักษณะที่สำคัญของนักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งคุณยังจะได้ยินต่อไปเรื่อยๆ นี่เป็นเพียงบางส่วนจากการให้สัมภาษณ์ของพวกเขาในหนังสือ The Market Wizards ซึ่งผลการลงทุนของพวกเขาบางคนนั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำได้ ผมค่อนข้างโชคดีมากที่ได้รู้จักกับเซียนหุ้นท่านหนึ่งที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ The Market Wizards เขาคือ Mark D. Cook ซึ่งไม่น่าเชื่ออีกว่า เขานั้นเป็นเพื่อนสนิทกับ Marty Schwartz เซียนหุ้นระดับโลกอีกคน เขาบอกกับผมว่า “Marty คือคนที่แพ้เก่งที่สุดที่คุณเคยเจอ” ผมอยากให้คุณลองคิดดูดีๆ สักครู่ สมมุติว่าคุณเป็นนักเล่นหุ้น และถามผมว่า “อะไรคือคำแนะนำที่ดีที่สุด?” และผมบอกว่า “ผมอยากให้คุณเป็นคนที่แพ้เก่งที่สุด” คุณอาจจะต่อยผมแล้วเดินจากไปก็ได้… “ผมต้องการให้คุณเป็นคนที่แพ้เก่งที่สุดครับ” ในการเก็งกำไรนั้น คนที่แพ้เก่งที่สุดต่างหาก… จะกลายเป็นผู้ชนะในระยะยาว Mark Cook บอกกับผมว่า เขารู้จักเพื่อนคนนี้ดีที่สุด… “เขาเป็นคนที่ตัดขาดทุนได้เก่งที่สุด เท่าที่ผมได้เคยพบมา โดยไม่มีความลังเลเลยแม้แต่น้อย !” เขาคือสุดยอดที่ผมเคยเจอ และสำหรับผู้ถูกสัมภาษณ์ไว้ในหนังสือคนอื่นๆ นั้น คำแนะนำของพวกเขาก็ง่ายๆ เช่นกัน นั่นคือการเรียนรู้ที่จะตัดขาดทุน

สิ่งสำคัญที่สุดในการทำกำไร คือการไม่ปล่อยให้ขาดทุนมากจนเกินไป พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ฉลาดไปกว่าคุณบางคนเลย… มีใครบ้างไหมที่เคยขาดทุนในห้องนี้? ผมคิดว่าทุกคนคงจะยกมือขึ้นใช่ไหมครับ พวกเราเคยขาดทุนกันมาแล้วทั้งนั้น แน่นอน มันไม่มีความสุขแน่ๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด… คือการเรียนรู้ที่จะตัดขาดทุน พวกเราทุกคนรู้ดีว่าเมื่อเราขาดทุน และปล่อยให้มันแย่ลงไป เช่น 12% หลังจากนั้นกลายเป็น 30%, 40%, 50% คุณรู้ไหม มันไม่ง่ายเลยนะที่จะตัดขาดทุนออกมา การตัดขาดทุน ณ จุดนั้นไม่ง่ายเลย การตัดขาดทุนที่ง่ายที่สุด คือต้องตัดตั้งแต่แรกครับ ดังนั้น จงใช้โอกาสที่คุณมี

ผมอยากจะเพิ่มเติมอีกหน่อยครับว่า… การขาดทุนครั้งใหญ่ๆ นั้น เริ่มจากการขาดทุนน้อยๆ มาก่อนทั้งนั้น มันเริ่มจากจุดเล็กๆ มาก่อนทั้งนั้นเลย มันจึงง่ายที่สุดที่จะตัดขาดทุนตั้งแต่แรกๆ …ขอให้ตัดขาดทุนได้อย่างไม่ลังเลใจนะครับ


แหล่งที่มา: http://mangmaoclub.com/preservation-of-capital/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น