วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552

วิกฤตดูไบ และ ฮานอย สะท้อนภาพ "ศก.โลก"



พอดีได้ไปอ่านเจอบทความที่เกี่ยวกับวิกฤตดูไบ หลังจากเกิด panic sell ในวันที่ 27 - 11 - 2009 ตลาดฮ่องกงลดลงเกือบ 5 % (และเด้งขึ้นมาเท่าเดิมใน 2 วันถัดมา) ตลาดเอเชีย และยุโรปลดลงเฉลี่ย 3-5 % แต่ประเทศไทยกลับลดลงไม่ถึง 1% แต่ก็พอเข้าใจเพราะก่อนหน้านี้ก็ลงมาหนักเหลือเกินไม่เหมือนชาวบ้านเขา

หลังจากดูไบขอประกาศปรับโครงสร้างหนี้ หรือเลื่อนการชำระหนี้ ไม่มีใครรู้อนาคต ว่านี้จะเป็นเค้าลางไม่ดีที่เริ่มเตือนนักลงทุนทั่วโลกหรือเปล่า

อันนี้มีคนโพสต์เอาไว้ใน pantip http://www.oknation.net/blog/sigree/2009/11/30/entry-1

ดูไบ"วิกฤต "ฮานอย"สาหัส สะท้อนภาพ "ศก.โลก"ยังง่อนแง่น



ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาเกิดภาวการณ์แตกตื่นขึ้นในแวดวงเศรษฐกิจทั่วโลก ถล่มตลาดหุ้นระนาวตั้งแต่ยุโรปเรื่อยมาจนถึงเอเชีย สาหัสขนาดดัชนีของแต่ละประเทศดำดิ่งลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนก็มี เหตุการณ์เขย่าขวัญที่ว่านั้นมีตั้งแต่เรื่องใหญ่คับโลกอย่างการประกาศขอเจรจาพักชำระหนี้ของดูไบ หนึ่งใน 7 รัฐอิสระ หรือเอมิเรตส์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ส่วนอีกหนึ่งนั้นเป็นภาวะเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอุษาคเนย์อย่างเวียดนาม ที่กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อเอาชนะภัยคุกคามที่กำลังกดดันเศรษฐกิจของทั้งประเทศอยู่

ดูไบ เป็นหนึ่งใน 7 รัฐที่ประกอบกันขึ้นเป็นยูเออี ประเทศที่มีน้ำมันดิบ สำรองอยู่มากเป็นอันดับ 8 ของโลก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ทุกรัฐในยูเออีจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่าอย่างน้ำมันอยู่ ดูไบ เป็นหนึ่งในรัฐที่ไม่มีน้ำมันอยู่ นั่นทำให้ ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล-มัคทูม ผู้ปกครองแห่งดูไบ จำเป็นต้องคิดอะไรที่แตกต่างออกไปเพื่อพัฒนาและยกระดับประเทศตนเป้าหมายของดูไบก็คือ การกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการเงินแห่งตะวันออกกลาง หรืออย่างน้อยที่สุดในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียในระนาบเดียวกันกับ สิงคโปร์และฮ่องกงในเวลา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือกันว่า ดูไบ "บูม" ถึงขีดสุด ชนิดเกินหน้าเกินตา เอมิเรตส์อื่นๆ แม้กระทั่ง อาบู ดาบี เอมิเรตส์ที่ถือกันว่าเป็น "รัฐบาลกลาง" ของยูเออี การท่องเที่ยวคึกคัก การบริโภคครึกครื้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การลงทุนหลั่งไหลเข้ามาจากต่างประเทศ ด้วยหวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งใน "ความมั่งคั่งใหม่" ที่ผุดพรายขึ้นในตะวันออกกลาง ผลลัพธ์ประการหนึ่งของการที่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเบ่งบานในดูไบ ก็คือการแย่งกันเกิดของโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ อะไรที่พิเศษพิสดารสามารถเกิดขึ้นได้ในนครรัฐมหัศจรรย์แห่งนี้ ตั้งแต่ตึกสูง 800 เมตร จำนวน 160 ชั้น เรื่อยไปจนถึง การจัดสรรที่ดินในรูป "เกาะ" ที่ถมและสร้างขึ้นเป็นรูปแผนที่โลกและรูปต้นปาล์ม ดึงดูดทั้งลูกค้าระดับอภิมหาเศรษฐีและเซเลบริตี้จากทั่วโลก รวมทั้งดาราดังอย่าง แบรด พิตต์ หรือเอกบุรุษในแวดวงกีฬาฟุตบอลอย่าง เดวิด แบ๊คแฮม

การลงทุนส่วนใหญ่ในดูไบ เป็นการลงทุนจากกองทุนของรัฐบาลที่เรียกกันว่า กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งรัฐ (ในทำนองเดียวกับเทมาเสก ของสิงคโปร์) ซึ่งจัดตั้งในชื่อ "ดูไบเวิลด์" ดูไบเวิลด์ เป็นผู้บริหารกิจการหลายอย่าง อาทิ ดูไบ พอร์ต เวิลด์ ผู้บริหารท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ นาคีล ดีเวลลอปเมนต์ บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของกิจการ ปาล์ม ไอส์แลนด์ และอื่นๆ ที่ส่วนหนึ่งยังคาราคาซัง ครึ่งๆ กลางๆ อยู่ในเวลานี้

โครงการยักษ์ "ปาล์ม ไอส์แสนด์" หนึ่งในโครงการที่ยังคาราคาซังของ นาคีล ดีเวลล็อปเมนต์ ที่เป็นที่มาของหนี้ก้อนมหึมาของดูไบ จนต้องประกาศพักหนี้อยู่ในเวลานี้ เงินลงทุนทั้งหมดไม่ใช่การใช้เงินสดจากกองทุนเข้ามาทำลงทุน หากแต่เป็นการอาศัยศักยภาพของกองทุนมากู้เงิน ทั้งในรูปของการกู้จริงๆ และในรูปของการกู้โดยการออกพันธบัตร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การกู้ทั้งสองรูปแบบค้ำประกันโดยรัฐบาล ดูไบทั้งสิ้น

เกิดอะไรขึ้นที่ดูไบ

เบ็ดเสร็จแล้ว ผู้ปกครองแห่งดูไบ กู้เงินจากแหล่งเงินหลากหลายมากกว่า 70 แหล่ง มาเพื่อใช้ในการดำเนินการและพัฒนาโครงการต่างๆ ของประเทศ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นาคีล ดีเวลลอปเมนต์ ระบุเอาไว้ว่า ดูไบ เวิลด์ มีหนี้สินทั้งสิ้น 59,300 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2008 และมีทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่า 99,600 ล้านดอลลาร์ ณ เวลาเดียวกัน

มีผู้ประเมินหยาบๆ เอาไว้ว่า โดยรวมแล้ว หนี้สินทั้งที่เป็นของภาครัฐและเอกชนในดูไบทั้งหมดรวมแล้วมีประมาณ 80,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ยากที่จะทำให้นครรัฐดูไบ กลายเป็นประเทศที่ประชากรมีหนี้สินต่อหัวสูงที่สุดในโลก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจไม่เกิดอะไรขึ้นกับพัฒนาการของดูไบ หากไม่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เรียกกันในเวลานี้ว่า แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส ขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ลักษณะพิเศษที่เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของวิกฤตหนนี้ก็คือ ภาวะตกต่ำของราคาอสังหาริมทรัพย์ และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นตามมาจนลุกลามกลายเป็นวิกฤตไปทั่วโลก คือ ภาวะวิกฤตสินเชื่อ ทั้งสองอย่างกระทบเข้าตรงใจกลางสิ่งที่ดูไบเป็นอยู่พอดิบพอดี แหล่งเงินกู้ของดูไบ หายากเย็นมากขึ้นในขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ของตนลดลงมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แถมยังขายไม่ได้อีกต่างหาก

สิ่งที่ผู้ปกครองแห่งดูไบประกาศ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น อุปมาอุปไมยได้กับการที่ นาย ก. กู้เงินจากธนาคารมาสร้างบ้าน แล้วจู่ๆ ก็พบว่า เงินสดที่มาจากรายได้ของตนขาดมือไม่เพียงพอต่อการชำระค่างวดที่กำลังจะมาถึง จึงประกาศบอกกับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ทั้งหลาย ขอให้เลิกเก็บค่างวดไปอีก 6 เดือน ความแตกต่างกันอย่างใหญ่หลวงก็คือ ดูไบ ไม่ใช่ นาย ก. แต่เป็นประเทศๆ หนึ่ง ซึ่งอย่างน้อยที่สุด หากเงินสดจะขาดมือจริงต้องมีเค้าลางบอกล่วงหน้า ที่จะทำให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเลิกปล่อยกู้ นักลงทุนเลิกลงทุนซื้อพันธบัตร ข้อเท็จจริงก็คือ บรรดานักลงทุนจากต่างชาติประเมินดูไบผิดมาตลอดระยะเวลา 4 ปี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอกย้ำชัดเจนว่า สิ่งที่บรรดานักลงทุนทั้งหลายคิดว่าดูไบ เวิลด์ จะได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลดูไบ และรัฐบาลดูไบจะได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง ความน่าเชื่อถือและศักยภาพของโครงการต่างๆ ของดูไบ หายวับไปกับตาก็เพราะเหตุนี้
ผลสะเทือนจากวิกฤตดูไบ

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีอะไรชัดเจนจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น นครรัฐดูไบ เพียงร้องขอให้เจ้าหนี้มาเจรจากับตนเพื่อยืดเวลาชำระหนี้ออกไปอีกอย่างน้อยจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมปีหน้า แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลอาบูดาบี ไม่ได้หนุนหลังดูไบอย่างเต็มที่ ทำให้ทุกคนตื่นตระหนก ดูไบมีหนี้สินอยู่เท่าใดกันแน่? ต้องการยืดชำระหนี้ก้อนไหน เป็นจำนวนเท่าใด? แล้วจะเกิดอะไรขึ้นตามมาอีก? เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ และยิ่งก่อให้เกิดความตระหนกแผ่ไปทั่ว
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการก็คือ ดูไบเวิลด์ เพิ่งออกพันธบัตรและธนาคารกลางอาบูดาบี เพิ่งกวาดซื้อไปทั้งหมด 10,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่จะมีการประกาศขอพักชำระหนี้ ดูไบเวิลด์ เพิ่งได้เงินกู้จากธนาคาร 2 แห่ง ในอาบูดาบีมา รวมเป็นเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังจำเป็นต้องประกาศของพักหนี้ ทำให้นักลงทุนยิ่งขมวดคิ้วนิ่วหน้ามากขึ้นไปอีก

บุคคลทั่วไปไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่า ดูไบเวิลด์ เป็นหนี้ใครอยู่เป็นจำนวนเท่าใดกันแน่ เว้นเสียแต่ว่า เจ้าหนี้หรือลูกหนี้จะประกาศข้อเท็จจริงออกมา จนกว่าจะถึงเวลานั้น วิกฤตดูไบอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องออกไปไม่หยุดยั้ง ยิ่งข่าวสะพัดออกไปว่าหนี้จำนวนหนึ่งถูกแปลงไปอยู่ในรูปของ เครดิต ดีฟอลท์ สว็อป หรือซีดีเอส ความแตกตื่นยิ่งลุกลามไปกันใหญ่ ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ทำให้กรณีนี้เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกก็คือ แม้ว่าในที่สุดแล้ว รัฐบาลกลางของยูเออีก็คงต้องเข้ามาอุ้มโครงการต่างๆ เอาไว้ แต่ก็ต้องเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่เป็นที่ยอมรับกันได้ ซึ่งหมายถึงความเจ็บปวดสำหรับเจ้าหนี้ของดูไบในเวลานี้ และจำนวนหนี้สินที่แท้จริงของดูไบนั้นจำเป็นต้องบวกเม็ดเงินที่ต้องทุ่มลงไปเพื่อให้โครงการต่างๆ ที่ยังคาราคาซังแล้วเสร็จ พร้อมออกจำหน่ายเข้าไปด้วยอีกส่วนหนึ่ง

ภายใต้ข้อสันนิษฐานดังกล่าว วิกฤตดูไบน่าจะส่งผลสะเทือนสูงเฉพาะในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งคาดกันว่าส่วนใหญ่จะเป็นในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียเท่านั้น
นี้

เกิดอะไรขึ้นที่เวียดนาม

ความยุ่งยากของเวียดนาม แตกต่างกันออกไป แรงกดดันที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของเวียดนามเกิดขึ้นจากภายในเองส่วนหนึ่งและจากภายนอกประเทศอีกส่วนหนึ่ง กดดันจนทำให้ธนาคารกลางของเวียดนามประกาศลดค่าเงินด่องของตนเองลงเป็นครั้งแรกในรอบปี ในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นประเทศแรกในอุษาคเนย์ที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนทำให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้นไปอยู่ที่ 8 เปอร์เซ็นต์แล้ว

ธนาคารกลางของเวียดนามรู้ดีว่า การลดค่าเงินลง ราว 5 เปอร์เซ็นต์นั้น จะส่งผลให้เกิดการปรับค่าเงินด่องในตลาดจริงๆ ราว 10-12 เปอร์เซ็นต์ และจะก่อให้เกิดแรงกดดัน หรือไม่ก็เกิดการเก็งกำไรจากการเดิมพันว่า จะมีการลดค่าเงินลงไปอีกอย่างต่อเนื่อง แต่ก็จำเป็นต้องทำ
เหตุผลประการหนึ่งนั้น เป็นเพราะทางการเวียดนามต้องการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างฮวบฮาบจนถึงระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ที่ 4.35 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤศจิกายน ในขณะเดียวกันกับที่ระดับสินเชื่อก็ขยายตัวมากถึง 34.5 เปอร์เซ็นต์ ใน 10 เดือนแรกของปีนี้ เกินกว่าเป้าทั้งปีที่ทางการตั้งเอาไว้ที่ 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว ในเวลาเดียวกันนั่นเอง ภาวะขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก

ดุลการค้าของเวียดนามขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 1,750 ล้านดอลลาร์ ในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นจาก 1,600 ล้านดอลลาร์ เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา การส่งออกนับตั้งแต่เดือนมกราคมเรื่อยมาจนถึงเดือนพฤศจิกายน ลดลง 11.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน เงินทุนไหลออกก็มากกว่าเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้าประเทศ ทำให้เกิดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มมากขึ้นในครึ่งแรกของปีนี้เป็น 5,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ทั้งปีของปี 2008 ที่ผ่านมา ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพียง 1,600 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ประเด็นที่เป็นปัญหาก็คือ การดำเนินการของทางการเวียดนามในเวลานี้ ทำให้เกิดความสับสนและไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาในอนาคตขึ้น เพราะการลดค่าเงินและการขึ้นดอกเบี้ยดูเหมือนจะขัดกันอยู่ในตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลายคนปักใจเชื่อตั้งแต่ตอนนี้แล้วว่า การลดค่าด่องครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นครั้งสุดท้าย

•ข้อเท็จจริงของทั้ง 2 กรณี แสดงให้เห็นภาพที่ชัดเจนประการหนึ่งว่า ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว สร่างไข้อยู่ในเวลานี้นั้น ทุกอย่างยังเปราะบาง และอ่อนแออย่างยิ่ง ภาวะวิกฤตสินเชื่ออาจเล่นงานใครก็ได้ เมื่อใดก็ได้ทุกเมื่อ เช่นเดียวกันกับปัญหาเรื่องการส่งออกและการไหลเข้า-ออกของเงินทุนจากต่างประเทศ และน่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกนานไม่น้อย จนกว่าเหตุปัจจัยพื้นฐานในระบบเศรษฐกิจโลกจะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องอย่างจริงจัง

มติชนรายวันวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11585

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น